Skip to main content

การวิจารณ์แก่นเรื่อง (Theme) ที่ปรากฏนวนิยาย

การวิจารณ์แก่นเรื่อง (Theme) ที่ปรากฏนวนิยาย

 รศ.ดร.ธัญญา  สังขพันธานนท์


รศ.ดร.ธัญญา  สังขพันธานนท์

.ความหมาย
แก่นเรื่อง (Theme) บางครั้งเรียกว่า สารัตถะ หรือความคิดหลักของเรื่อง อุดม หนูทอง (๒๕๒๓ : ๑๑๙) ให้ความหมายว่า เป็นสาระหรือสัจจะที่ผู้ประพันธ์หยั่งเห็น เชื่อถือหรือยึดถือ และประสงค์จะสื่อไปยังผู้อ่าน ส่วน กุหลาบ มัลลิกามาส (๒๕๒๙ : ๑๐๙๑๐๘) ให้ความหมายของแก่นเรื่องว่าคือทรรศนะที่ผู้แต่งแสดงให้เห็นถึงธรรมดา ธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายอย่าง) ของมนุษย์ (ชีวทัศน์) หรือทัศนะที่ผู้แต่งมีต่อโลก (โลกทัศน์) แล้วนำมาแสดงให้ประจักษ์แก่ผู้อ่านโดยใช้เนื้อเรื่องเป็นเครื่องสื่อสาร แก่นเรื่องจึงเป็นจุดมุ่งหมายอันเป็นแก่นกลางหรือเป็นแนวคิดหลักของเรื่อง หรือเป็นสารที่ผู้แต่งต้องการสื่อมายังผู้อ่าน
          จากความหมายข้างต้น อาจสรุปได้ว่า แก่นเรื่องคือสาระสำคัญที่ผู้แต่งมีจุดประสงค์ต้องการสื่อมายังผู้อ่าน สาระสำคัญนั้นมักจะเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความหยั่งรู้ เข้าใจและเป็นข้อคิดเตือนใจ
          แก่นเรื่อง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าแต่เรื่องเล่าไม่จำเป็นต้องมีแก่นเรื่องเสมอไป (Perrine ๑๙๗๘ : ๑๑๒) เพราะเรื่องแต่ละประเภทจะมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันออกไป เรื่องตื่นเต้นสยองขวัญมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความหวาดสยองแก่ผู้อ่าน เรื่องผจญภัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตื่นเต้นแก่ผู้อ่าน จุดมุ่งหมายของเรื่องชวนหัวอาจเพียงต้องการให้ผู้อ่านสนุกสนานไปกับพฤติกรรมของตัวละครหรือการจบแบบพลิกความคาดหมาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แก่นเรื่องจะมีหรือไม่มีนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของเรื่องแต่ละประเภท และจุดมุ่งหมายที่ต้องการสื่อมายังผู้อ่านเป็นสำคัญซึ่งสอดคล้อง กับความเห็นที่ว่า แก่นเรื่องใช้ในความหมายสองอย่างคือความคิดอันเป็นศูนย์กลางของเรื่องกับจุดมุ่งหมายอันเป็นศูนย์กลางของเรื่อง (Stanton ๑๙๖๕ : ๑๙)

.ลักษณะของแก่นเรื่อง
แก่นเรื่อง หรือความคิดอันเป็นศูนย์กลางของเรื่อง มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.แก่นเรื่องมักจะปรากฏในเรื่องสั้นหรือนวนิยายที่มีจุดมุ่งหมาย
 ๑.๑ เรื่องที่ผู้เขียนพยายามเสนอหรือตีแผ่ให้เห็นความจริงในชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วม หรือไม่ก็เป็นภาวะอันเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึกหรือการแสดงออก เช่น ความรัก ความเกลียดชัง ความปรารถนา ความโลภ ฯลฯ ตัวอย่างในเรื่องสั้น จับตาย ของมนัส จรรยงค์ แสดงธาตุแท้ของมนุษย์ที่รักศักดิ์ศรียิ่งกว่าชีวิตเรื่อง จำปูนของเทพมหาเปารยะแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของความรักที่โลดโผนรุนแรง ซึ่งบทสรุปของแก่นเรื่องในลักษณะนี้มักจะเป็นไปตามประโยคที่ว่า มนุษย์เราก็มักเป็นเช่นนี้แหละ
.๒ เรื่องที่ผู้เขียนประดิษฐ์คิดแต่งขึ้น เพื่อพิสูจน์กฎเกณฑ์หรือทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิต โดยการผูกเรื่องให้มีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก หรือการเล่าเรื่อง เพื่อให้เรื่องดังกล่าวมีความหมายและเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีหรือสมมุติฐานนั้นเป็นความจริง หรือมีความเป็นไปได้ แนวคิดและทฤษฎีที่ผู้เขียนมุ่งเสนอแนวคิดเชิงปรัชญา หรืออภิปรัชญาเช่น นิคม รายยวา เขียนเรื่อง ตลิ่งสูง ซุงหนัก เพื่อต้องการพิสูจน์ความคิดว่ามนุษย์ล้วนแล้วแต่แบกเอาซาก หรือพันธะไว้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับช้างที่ลากซุงอยู่ริมแม่น้ำที่มีตลิ่งสูง
. แก่นเรื่องอาจมีลักษณะคล้ายคำสอนทางศีลธรรม หรือหลักในการใช้ชีวิต แต่แก่นเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าทางศีลธรรมเสมอไป แก่นเรื่องกับศีลธรรมอาจแทนที่กันได้หรือเป็นอันเดียวกันในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ข้อสรุปที่แน่นอนตายตัว เพราะศีลธรรม มุ่งให้ข้อเตือนใจ แต่แก่นเรื่องไม่ได้มุ่งสอนหรือให้ข้อคิดเพียงอย่างเดียว หากแต่มุ่งให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้และเข้าใจชีวิตเป็นสำคัญ ดังนั้นในการพิจารณาค้นหาแก่นเรื่อง จึงไม่ควรตั้งคำถามว่า เรื่องนี้สอนอะไร แต่ควรถามว่า เรื่องนี้แสดงอะไรให้เราเห็น(Perrine ๑๙๗๘ : ๑๒๒)
.บทสรุปเกี่ยวกับแก่นเรื่อง มักจะเป็นประโยคบอกเล่า ที่รวบรวมเอาความคิดรวบยอด(Concept) เกี่ยวกับสารสำคัญหรือความคิดอันเป็นศูนย์กลางของเรื่องเอาไว้ ความคิดรวบยอดดังกล่าว จะเกิดขึ้นภายหลังที่ผู้อ่านได้อ่านเรื่องจบลง หรือสรุปได้ในขณะที่อ่านเรื่อง
ข้อสรุปหรือความคิดรวบยอดเกี่ยวกับแก่นเรื่อง ในเรื่องสั้นหรือนวนิยายแต่ละเรื่อง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป โดยธรรมชาติและความเป็นปัจเจกบุคคล ผู้อ่านแต่ละคนอาจตีความหรือสรุปแก่นเรื่องแตกต่างกันออกไป เช่นในเรื่องสั้น จับตายของมนัส จรรยงค์ อาจจะมีบทสรุปเกี่ยวกับแก่นเรื่อง แตกต่างกันออกไปตามความเห็นของผู้อ่านแต่ละคนดังนี้
-มนุษย์ย่อมรักและหวงแหนศักดิ์ศรีของตัวเอง
- ความรักทำให้มนุษย์กระทำในสิ่งต่างๆได้โดยไม่กลัวแม้แต่ความตาย
          -รักสามเส้าทำให้เกิดปัญหาเสมอ
          -ระหว่างหน้าที่และมนุษยธรรม ทำให้คนเรายุ่งยากในการตัดสินใจ
- ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามไม่ได้
.แก่นเรื่องมักจะเกี่ยวข้องกับตัวละครเป็นสำคัญ แต่ตัวละครจะแสดงบทบาทและถูกกำหนดโดยโครงเรื่องอีกทีหนึ่ง ดังนั้นแก่นเรื่อง จึงมีความสัมพันธ์กับโครงเรื่องโดยตรง ผู้เขียนจะนำเหตุการณ์ต่างๆมาผูกเขาจนเป็นเรื่อง เหตุการณ์ดังกล่าวจะช่วยย้ำและเสริมให้แก่นเรื่องเปิดเผยออกมา จึงกล่าวได้ว่าหากโครงเรื่องเป็นประโยค แก่นเรื่องก็คือวลีนั่นเอง(ชูทิพย์ นาภู ๒๕๒๓ : ๓๓)
.การวิเคราะห์และค้นหาแก่นเรื่อง
ในเรื่องบางเรื่อง แก่นเรื่องอาจปรากฏอย่างชัดเจน แต่บางเรื่องแก่นเรื่องถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้องค์ประกอบและรายละเอียดต่าง ๆ การวิเคราะห์ค้นหาแก่นเรื่องจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
วิธีการง่ายๆ ในการค้นหาแก่นเรื่องก็คือ การอ่านเรื่องนั้นอย่างระมัดระวัง พิจารณาตัวละครเอก และการกระทำของตัวละครในสถานการณ์ต่างๆตลอดจนดูน้ำเสียงของผู้แต่งและแง่มุมอื่น ๆ เช่น การใช้สัญลักษณ์ การอ่านควรกระทำหลาย ๆ ครั้งและอย่างละเอียด จากวิธีการที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ผู้อ่านค้นหาแก่นเรื่องได้
นอกจากนี้แล้ว การพิจารณาอย่างเรื่องอาจทำได้โดยการสังเกต วิธีการนำเสนอแก่นเรื่องของผู้เขียน ซึ่งอาจมีวิธีการหรือกลวิธีหลาย ๆ อย่างเช่น (Roberts ๑๙๘๘ : ๑๐๔ ๑๐๖)
.นำเสนอโดยผ่านการบอกเล่าโดยตรงของผู้เขียน (Direct Statement by the author’s unnamed speaker)
บ่อยครั้งที่ผู้เขียนมักจะแสดงทรรศนะผ่านผู้พูดที่ไม่ปรากฏตัว(Unnamed Speaker)ซึ่งผู้พูดดังกล่าวอาจจะเป็นผู้เขียนเองหรือไม่ใช่ก็ได้ การแสดงทัศนะในลักษณะนี้ จะช่วยให้การค้นหาแก่นเรื่องทำได้ง่ายขึ้น แต่ผู้อ่านจะต้องพิจารณาความคิดเหล่านี้ให้รอบคอบมากที่สุด ก่อนจะสรุปว่า นั่นคือแก่นเรื่องที่แท้จริง
.นำเสนอโดยผ่านทรรศนะของผู้เล่าเรื่อง (Direct Statement by the persona)
คำว่าผู้เล่าเรื่องในความหมายของวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่า ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เขียนเสมอไป แต่ผู้เขียนอาจจะให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง เป็นผู้เล่าเรื่องโดยผู้อ่าน จะสังเกตได้ จากการใช้สรรพนามบุรุษต่าง ๆ เช่นการเล่าโดยสรรพนามบุรุษที่ ๑ (ฉัน,ข้าพเจ้า,ผม) การเล่าโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ ๒ (คุณ,ท่าน) การเล่าโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓(เขา,หล่อน,เธอ) ซึ่งในบางครั้ง ผู้เขียนอาจฝากความคิด หรือทัศนะที่เป็นแก่นเรื่องผ่านคำพูด หรือการนึกคิดของผู้เล่าเรื่องออกมา
การเสนอแก่นเรื่องในลักษณะนี้อาจไม่ปรากฏอย่างชัดเจนเพียงครั้งเดียว แต่ผู้วิจารณ์จะต้องพิจารณาทรรศนะและน้ำเสียงของผู้เล่าเรื่องตลอดทั้งเรื่อง แล้วนำมาปะติดปะต่อหรือสรุปเป็นแก่นความคิดออกมาให้ได้
.นำเสนอโดยผ่านการกระทำของตัวละคร (Dramatic  Statement made by the Character)
โดยวิธีการนี้ผู้เขียนอาจไม่แสดงแนวคิดออกมาตรง ๆ แต่จะให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมและกระทำในสิ่งต่างๆตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป และการกระทำหรือพฤติกรรมดังกล่าวนี้ จะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านตีความและอาจมองเห็นความคิด อันเป็นแก่นเรื่องได้ ดังเช่น ในเรื่องสั้น หม้อที่ขูดไม่ออก ของอัญชัน ผู้เขียนกำหนดให้ตัวละครเอกที่เป็นภรรยาผู้เกรงใจสามีกระทำ และถูกกระทำครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งการกระทำนั้นทำให้ผู้อ่านสรุปแล้วเห็นได้ว่า ผู้หญิงถูกกดขี่และเอาเปรียบจากเพศชายเสมออันเป็นแก่นเรื่องของเรื่องสั้นนี้
.นำเสนอโดยผ่านภาษาอุปมา (Figurative Language)
นักเขียนบางคน จะใช้ภาษาในลักษณะของการอุปมาเปรียบเทียบหรือใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อแก่นเรื่อง การอุปมาอาจจะอยู่ในบทสนทนา การบรรยาย หรือแม้แต่ในชื่อเรื่อง เช่น เรื่องสั้น หม้อที่ขูดไม่ออกของอัญชัน หม้อที่ขูดไม่ออกแทนการกดขี่สตรีเพศ ที่ไม่เคยหมดสิ้นไปจากสังคม ที่ถือเพศชายเป็นใหญ่ นวนิยายเรื่อง ปูนปิดทองของกฤษณา อโศกสิน (พระปูนที่ปิดด้วยทองคำเปลว หมายถึง พ่อแม่ที่ไม่รับผิดชอบในภาระหน้าที่ และบทบาทของพ่อแม่ทำให้ครอบครัวแตกร้าวและลูก ๆ เป็นผู้รับกรรม)
.นำเสนอโดยผ่านตัวเรื่องทั้งหมด (The works itself as it represents ideas)
โดยวิธีการนี้ แก่นเรื่องจะถูกเปิดเผยออกมา ก็ต่อเมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนั้น ถึงตอนจบ การอ่านเรื่องที่เสนอแก่นเรื่องโดยวิธีนี้ผู้อ่านควรพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดอย่างรอบคอบ และจะไม่สามารถสรุปแก่นเรื่องได้เลยหากยังอ่านเรื่องทั้งหมดไม่จบ
.การประเมินค่าแก่นเรื่อง
สาระสำคัญในการประเมินค่าแก่นเรื่อง คือการพิจารณาถึงคุณค่าของแนวคิด อันเป็นศูนย์กลางของเรื่องและการพิจารณาถึงความสำเร็จ ในการสื่อแก่นเรื่อง ซึ่งผู้วิจารณ์อาจใช้เกณฑ์ต่อไปนี้เป็นแนวในการวินิจฉัย
.เกณฑ์เกี่ยวกับความสมจริง การพิจารณาความสมจริงของแก่นเรื่องมีสองลักษณะ คือ
. ความสมจริงตามความเป็นจริงภายนอก กล่าวคือ แก่นเรื่องที่ดีจะต้องมีความสมจริง มีเหตุผลและเป็นไปได้เมื่อเทียบกับความเป็นจริงภายนอก คือความจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ หรือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสามัญวิสัยของปุถุชนอันเป็นลักษณะที่เรียกว่า ธรรมดาโลก
.ความสมจริงภายในตัวเรื่อง เรื่องบางเรื่องผู้แต่งอาจจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอหรือพิสูจน์ทฤษฎีหรือแนวคิดเกี่ยวกับชีวิต ดังนั้นในการผูกเรื่องจึงสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เป็นเหตุเป็นผลและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ในการพิจารณาความสมจริง ตามลักษณะนี้ผู้วิจารณ์จะต้องสังเกตดูว่า แก่นเรื่องที่นำเสนอมีความสอดคล้องกับองค์ประกอบต่าง ๆ หรือไม่หรือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ความสมจริงในตัวเรื่องอาจจะเป็นคนละอย่างกับความสมจริงภายนอกก็ได้
.เกณฑ์เกี่ยวกับคุณค่า แก่นเรื่องที่ดีไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าในเชิงสั่งสอนหรือคุณค่าทางด้านศีลธรรมเสมอไป แต่ควรจะช่วยตีแผ่ เปิดเผยให้เห็นลักษณะและธรรมชาติของมนุษย์ ตามความเป็นไปของสังคม และของโลกอย่างชัดเจนทั้งยังช่วยให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจต่อสิ่งดังกล่าวได้กว้างขวาง และลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนี้แก่นเรื่องที่ดีควรจะเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ยกระดับจิตใจของผู้อ่าน มากกว่าเป็นแนวคิดที่สุดรั้งให้จิตใจตกต่ำหรือท้อถอย
.ตัวอย่างการวิเคราะห์และประเมินค่าแก่นเรื่อง
วิจารณ์แก่นเรื่อง เรื่องสั้น คนบนต้นไม้ของนิคม รายยวา
คนบนต้นไม้ของนิคม รายยวา เป็นเรื่องราวของชาวนาคนหนึ่ง ที่ประสบความล้มเหลวจากการทำนาและการหาเลี้ยงชีพด้วยการประกอบลำไพ่อื่น ๆ เขาเรียนรู้ว่าตนเอง ซึ่งมีฐานะด้อยกว่า มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบและคมเหงอยู่เสมอ ซึ่งก็เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ที่มีฐานะใกล้เคียงกับเขา แม้เขาจะรู้ แต่ก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมจึงมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเขาปีนต้นไม้เพื่อจับลูกนกสาลิกาไปขาย เขาก็รู้สึกว่าพวกนกที่อยู่บนต้นไม้ช่างมีความสุข น่าอิจฉาไม่มีการเบียดเบียนกัน เขาจึงคิดอยากมาอยู่บนต้นไม้บ้าง ด้วยหวังว่าคงไม่มีใครมารบกวนเขาเหมือนกับอยู่ข้างล่าง แต่เขาเพียงคิดเท่านั้นเพราะในที่สุดก็จับลูกนกออกจากโพรงของมันจนได้ ในขณะที่พ่อแม่นกบินโฉบไปมาและร้องลั่นเรากับหัวใจจะแตกสลาย
ความคิดสำคัญที่นิคม รายยวาต้องการเสนอก็คือ ความจริงที่ว่าสัตว์โลกต่างก็เบียดเบียนรังแกซึ่งกันและกันเสมอ พวกที่มีกำลังและอำนาจเหนือกว่า ก็รังแกผู้ที่ด้อยกว่าไม่เว้นว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน
เรื่องสั้นเรื่องนี้สั้นและกระชับ แต่ก็สื่อความหมายได้ครบถ้วน ตามที่ผู้เขียนต้องการ ผู้เขียนได้ใช้ คนบนต้นไม้และการกระทำของเขา เป็นตัวแทนของปรากฏการณ์และความเป็นจริงดังกล่าว ผู้อ่านจะต้องตีความสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนนำเสนอไม่ว่าจะเป็นคนบนต้นไม้หรือพ่อแม่นกและลูกนกสาลิกา ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ที่ง่ายต่อการสร้างนัยประหวัดและเทียบเคียงว่าผู้เขียนต้องการสื่อถึงเรื่องใด
นิคม รายยวา เป็นนักเขียน ที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เขาเขียนเสมอ กล่าวคือเขาจะไม่แสดงทรรศนะหรือน้ำเสียงออกมาให้ผู้อ่านสังเกตได้ แต่จะสื่อผ่านตัวละคร ทั้งคำพูด การกระทำและเค้าโครงเรื่อง รวมไปถึงการจัดวางองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ฉากและบทสนทนา ให้มีความสอดคล้องและเอื้อต่อการแสดงแก่นความคิด  ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เช่นกัน แก่นเรื่องจะปรากฏขึ้นทันทีที่ผู้อ่าน อ่านเรื่องจบลง อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าในเรื่องนี้ผู้เขียนได้แย้มพรายให้เห็นแก่นความคิดไว้ทั้งในตอนต้นและตอนท้ายของเรื่อง โดยผ่านบทสนทนาของเพื่อนบ้านที่ว่า เรามักจะเจอเรื่องเหมือน ๆกัน มีทุกข์มีสุข มีได้มีเสีย เอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนกันเอาแต่ตัวรอด  และในตอนที่ชายหนุ่มคิดคำนึง เมื่อขึ้นไปอยู่บนยอดไม้ซึ่งก็ช่วยชี้นำให้ผู้อ่านเข้าใจกันเรื่องได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่นิคม รายยวา นำเสนอในเรื่องนี้ไม่ใช่คำสอนเชิงศีลธรรม แต่เป็นการเปิดเผยให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์และสัจจะธรรมในการดำรงชีวิตของสัตว์โลก ผู้เขียนเป็นคนเข้าใจและยังมองเห็นต่อไปอีกว่า แม้คนเราจะตระหนักรู้ในความเป็นจริงข้อนี้ แต่เราก็ยังคงปฏิเสธและกระทำอยู่ ดังเช่น ชายบนต้นไม้ที่แม้เขาจะรู้ถึงภาวะของการเอารัดเอาเปรียบกัน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยังเป็นฝ่ายกระทำนั้นเสียเอง เข้าทำนองที่ว่า ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง



ที่มา วรรณกรรมวิจารณ์

Comments

  1. ขอบคุณมากครับสำหรับความกระจ่างที่ได้รับจากแนวทางที่ยอดเยี่ยมครับ
    https://www.simpletitle.net/theme.html/

    ReplyDelete

Post a Comment

Popular posts from this blog

ร่ายสุภาพ

พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า "ร่ายสุภาพ" ไว้ว่า น. ชื่อร่ายชนิดหนึ่ง บทหนึ่งมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ ส่งสัมผัสท้ายวรรคหน้า และรับสัมผัสกับคำที่ ๑ ที่ ๒ หรือที่ ๓ ของวรรคถัดไปและจะต้องจบด้วยโคลง ๒ สุภาพ.                   ร่ายสุภาพ   เป็นร่ายที่นิยมกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน  มักมีการนำร่ายสุภาพไปแต่งเป็นส่วนหนึ่งของลิลิต  เช่น  ลิลิตพระลอ  ลิลิตตะเลงพ่าย ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ ๑.  แผนผัง    ๒.  คณะและพยางค์      ร่ายสุภาพบทหนึ่งมี  ๕  วรรคขึ้นไป  แต่ละวรรคมี  ๕  คำ จะแต่งกี่วรรคก็ได้     แต่ตอนจบต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ   ๓.  สัมผัส    ร่ายสุภาพมีการส่งสัมผัสท้ายวรรค  และมีสัมผัสรับตรงคำที่  ๑ , ๒ , ๓      คำใดคำหนึ่งจนถึงตอนท้าย  พอจะจบก็ส่งสัมผัสไปยังบทต้นของโคลงสองสุภาพ  ต่อจากนั้น   ก็บังคับสัมผัสตามแบบของโคลงสอง  จึงถือว่าจบร่ายแต่ละบท  ส่วนสัมผัสในนั้นไม่บังคับ       มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ๔.  คำเอกคำโท  มีบังคับคำเอกคำโทเฉพาะที่โคลงสองสุภาพตอนท้ายบทเท่านั้น ๕.  คำสร้อย  ร่ายสุ

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาสื่อความหมาย

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาสื่อความหมาย ในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายทั่วไปมักพบข้อบกพร่อง สรุปได้ดังนี้ 1. เป็นฝ่ายรับที่ไม่ดี คือ ฟังและอ่านไม่เข้าใจตรงกับแหล่งเดิม 2. เป็นฝ่ายให้ที่ไม่ดี คือ พูดและเขียนบกพร่อง ไม่พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นจนยากที่จะรับจะเข้าใจได้  3. ไม่เข้าใจและไม่สามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความหมายได้ เนื่องจากไม่รู้จักจัดลำดับความคิด และไม่รู้จักจัดความคิดให้เข้ากับภาษาที่ใช้  สาเหตุที่ทำให้การใช้ภาษาบกพร่อง            โดยทั่วไป สาเหตุที่ทำให้การใช้ภาษาบกพร่องจากทั้งทางฝ่ายให้มีดังต่อไปนี้  1. ทางฝ่ายรับ (ในด้านการอ่านและการฟังของผู้รับข่าวสาร)      1.1 ไม่รู้ความหมายเพียงพอ     1.2 ไม่รู้จักจัดคำให้ตรงกับความหมาย     1.3 ไม่เห็นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ในประโยค 2. ทางใฝ่ให้ (ในด้านการพูดและการเขียนของผู้ส่งสาร)     2.1 ไม่คิดให้ดีเสียก่อนที่จะพูดหรือเขียน     2.2 ไม่ให้รายละเอียดในอันที่ช่วยให้ฝ่ายรับหรือผู้อ่านและผู้ฟังได้คิดค้นหาความหมายเพื่อความเข้าใจ     2.3 ใช้คำที่ให้ความหมายไม่ดี หรือไม่ชัดเจนพอ     2.4 จัดลำดับความคิดอ